Blog

blog-img

เด็กอินเตอร์ ทำไมยังต้องเรียนภาษาไทย

ขึ้นชื่อว่าวิชาภาษาไทย เด็กอินเตอร์ต่างรู้ดีว่าวิชานี้เป็นไม้เบื่อไม้เมาหรืออุปสรรคในการเรียนมาตลอด หลายคนในชีวิตประจำวันใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย แต่ถึงแม้บางคนจะใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน แต่ก็ต้องพบว่าภาษาพูดกับภาษาเขียนมีเลเวลที่แตกต่างกันไป และวิชาภาษาไทยก็มักจะนำเสนอในบริบท หรือสิ่งแวดล้อมไทย ๆ ที่เด็กอินเตอร์ไม่ค่อยได้สัมผัส จึงไม่แปลกใจที่เด็กอินเตอร์เชื้อชาติไทยแท้ ๆ จะรู้สึกไม่อินกับภาษาไทย แต่ถ้าน้อง ๆ ได้เข้าใจเหตุผลต่อไปนี้ อาจจะทำให้รู้สึกว่าภาษาไทยจำเป็นกับชีวิตของเราอยู่มากพอสมควร และอาจจะต้องใส่ใจในด้านความเข้าใจในตัวภาษาให้มากขึ้น
 

1) ภาษาไทย ภาษาใคร
แม้ภาษาอังกฤษจะพูดคล่องปากกว่า แต่พึงระลึกไว้ว่าในฐานะที่เราเป็นคนไทย ภาษาไทยก็คือภาษาของเรา เพราะการใช้ชีวิตในสังคมไทย ย่อมหนีไม่พ้นการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง บางคนอาจคิดว่าในเมื่อทุกที่ที่ไปมีภาษาอังกฤษให้อ่านตลอด ทำไมเราต้องฝึกภาษาไทยด้วย ข้อมูลจากสถิติสหประชาชาติ 2543 (อ้างอิงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาในประเทศไทย) เผยว่า ภาษาไทยในประเทศไทย มีผู้ใช้มากถึง 52 ล้านคน ในขณะที่ภาษาอังกฤษมีผู้ใช้เพียง 48,202 คน โดยถือว่ายังเป็นรองภาษาจีนที่มีผู้ใช้มากกว่าถึง 231,350 คนในไทย แม้ว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 แต่เมื่อเทียบสถิติการใช้งานกันจริง ๆ แล้ว ถือว่าเป็นรองอยู่มาก ดังนั้นเมื่อเราต้องสื่อสารกับคนในประเทศ ในวัฒนธรรมเดียวกัน 
การใช้ภาษาไทยได้ตามมาตรฐาน ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้คล่องตัว ตลอดจนเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และยิ่งใช้บ่อย ก็ช่วยให้ภาษาไทยของเราแข็งแรงขึ้นด้วย 

 

2) ใช้จริงในที่ทำงาน
ทุกที่มีภาษาอังกฤษอยู่ก็จริง แต่เมื่อถึงการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน เราจะพบว่าหลายออฟฟิศ ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นเพราะวัฒนธรรมขององค์กรใช้ภาษาไทยเป็นหลัก สื่อสารกันเองภายในองค์กรจึงเป็นภาษาไทยทั้งหมด และในบางโอกาส แม้ว่าองค์กรหรือออฟฟิศจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่เมื่อได้ลูกค้าที่เป็นบริษัทหรือองค์กรไทย การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าจำเป็นต้องใช้ภาษาไทยเป็นหลักในการโต้ตอบทางอีเมลกับลูกค้า หรือแม้แต่การพรีเซนต์งาน ถึงตอนนั้นความจำเป็นในการใช้ภาษาไทยก็จะสูงมากทีเดียว ดังนั้นการมีทักษะการใช้ภาษาที่ดีจึงสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่ง หรือต้องการได้รับตำแหน่งการทำงานที่ดี ทักษะภาษาที่ดีถือเป็นความจำเป็นอันดับต้น ๆ ที่เราควรมีอยู่ก่อนแล้ว

 

3) อ่านสื่อไทย ไม่ต้องรอแปล
สื่อในที่นี้ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เช่น บทความ ข่าว และข้อมูลที่คนไทยเขียนขึ้นจากภาษาไทย ดังนั้นการที่เราสามารถรับข้อมูล หรืออ่านภาษาไทยได้ จะทำให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนได้ทันที ไม่ต้องคอยหาบทความที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมาอ่าน และเนื่องจากผู้เขียนใช้ภาษาไทยตั้งแต่ต้น ถ้าเราสามารถอ่านและเข้าใจได้ จะทำให้ได้รับเนื้อหาที่ตรงประเด็นกว่าการอ่านจากภาษาอังกฤษ


 

4) การตีความ
หากเราไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างแท้จริง อาจตีเนื้อหาจากการอ่านเอกสารสำคัญผิดพลาดได้ ส่วนมากที่เป็นปัญหาคือเมื่อเราต้องอ่านเอกสารสำคัญ เช่น สัญญาต่าง ๆ แบบฟอร์มยื่นภาษี การเขียนเอกสารสำคัญที่มีผลทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง และบางครั้งต้องเซ็นรับทราบ ถ้าเกิดการตีความผิดหรือเข้าใจผิด ก็จะเกิดผลกระทบหรือเสียหายต่อมาได้ และที่สำคัญเราควรที่จะเข้าใจกฎหมายดังกล่าวด้วยตัวเอง เพื่อเข้าใจรายละเอียดของเอกสาร จุดนี้การอ่านภาษาไทยได้ดีจะช่วยให้การตีความแม่นยำและเข้าใจชัดเจน

 

ฝากไว้ให้น้อง ๆ หมั่นฝึกฝนเรียนรู้ภาษาไทยทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียนของเราให้คล่อง เพื่อว่าเมื่อถึงเวาที่ต้องใช้ภาษา จะได้ไม่ติดขัด และสามารถแสดงศักยภาพของเจ้าของภาษาที่แท้จริงได้เต็มที่ วิชาภาษาก็เหมือนวิชาอื่น ๆ หมั่นอ่านทบทวน หรือหาสื่อภาษาไทยจากแหล่งที่เราสนใจมาอ่าน เพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเองอยู่ตลอด ก็จะช่วยให้ทักษะภาษาไทยดีขึ้นได้

Tag: